รู้จัก GASOHOL ดีพอหรือยัง? เชื้อเพลิงหลัก มีคุณสมบัติอย่างไร

ปัจจุบัน GASOHOL กลายเป็นเชื้อเพลิงหลักแทนน้ำมันเบนซิน ทั้งแบบออกเทน 91 และ 95 เพราะรัฐบาลเลิกขายไปแล้วนั่นเอง แต่หลายคนก็ไม่ค่อยอยากใช้สักเท่าไหร่ และยังมีคนสงสัยถึงที่มาที่ไป รวมถึงว่า “จะใช้ดีหรือไม่ดี” เลยจะนำเรื่องราวเกี่ยวกับ GASOHOL มาบอกเล่ากัน

ในปัจจุบัน GASOHOL ที่ออกจำหน่ายตามสถานีบริการน้ำมัน ได้จากการผสมระหว่าง เอทานอล หรือที่เรียกว่า เอทิลแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 99.5% ผสมกับน้ำมันเบนซินออกเทน 91 ในอัตราส่วนน้ำมันเบนซิน 9 ส่วน เอทานอล 1 ส่วน จึงได้เป็นน้ำมัน GASOHOL ออกเทน 95 ที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามข้อกำหนดของกรมธุรกิจพลังงานกระทรวงพลังงาน การผสมแอลกอฮอล์ลงในน้ำมันเบนซินในข้างต้น เป็นในลักษณะของสารเติมแต่งปรับปรุงค่า OXYGENATES และค่าออกเทน ของน้ำมันเบนซิน ซึ่งสามารถใช้ทดแทนสารเติมแต่งชนิดอื่นที่นิยมใช้ในปัจจุบันอย่าง MTBE หรือ METHYL TERTIARY BUTYL ETHER ได้

GASOHOL มีคุณสมบัติอยู่ในเกณฑ์ข้อกำหนด

  1. ค่าออกเทน ไม่ต่ำกว่า 95.0 ค่าออกเทนของน้ำมันเบนซินจะบ่งถึงคุณภาพในการต้านทานการน็อค หรือความสามารถของน้ำมันเบนซินที่จะเผาไหม้โดยเครื่องยนต์ไม่น็อค
  2. ค่าความดันไอ ไม่สูงกว่า 65 Kpa.(กิโลปาสคาล) ค่าความดันไอเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความสามารถในการระเหย ซึ่งจะมีผลต่อการสตาร์ทเครื่องยนต์
  3. สำหรับคุณสมบัติอื่น ๆ ของ GASOHOL จะมีคุณสมบัติเหมือนกับน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ยกเว้นสาร OXYGENNATE COMPOUND ที่กำหนดให้มีการเติมในน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ในปริมาณ 5.5 - 11% ของปริมาตร ซึ่งโดยทั่วไปในน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ที่ใช้ในตลาดปัจจุบัน จะเติม MTBE แต่ใน GASOHOL จะใช้ เอทิลแอลกอฮอล์ 99.5% ทดแทนในปริมาณ 10 -11 % ซึ่งจะยังคงทำให้คุณสมบัติในการใช้งานกับเครื่องยนต์เหมือนกันกับน้ำมันเบนซิน ออกเทน 95 ทุกประการ

GASOHOL 95 มีคุณสมบัติใกล้เคียงหรือเทียบเท่าน้ำมันเบนซินออกเทน 95 สามารถใช้ได้กับรถยนต์ทุกรุ่น ที่มีระบบเชื้อเพลิงแบบหัวฉีด แต่ไม่แนะนำให้ใช้กับรถยนต์รุ่นเก่า ที่มีระบบจ่ายเชื้อเพลิงแบบคาร์บูเรเตอร์ เพราะในระยะยาว แอลกอฮอล์ที่ผสมอยู่ใน GASOHOL จะทำให้ชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่มีส่วนประกอบยางธรรมชาติ เกิดการเสื่อมสภาพจนไม่สามารถใช้งานได้ อาจเกิดปัญหาคาร์บูเรเตอร์รั่ว หรือไม่สามารถจ่ายส่วนผสมไอดีได้อย่างถูกต้อง ทำให้เครื่องยนต์เดินไม่เรียบ เร่งไม่ขึ้น กำลังเครื่องตก และกินน้ำมันเชื้อเพลิงมากกว่าปรกติหลายเท่า

รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์เบนซิน ที่มีระบบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด สามารถเติม GASOHOL ผสมกับน้ำมันที่เหลืออยู่ในถังได้เลย โดยไม่ต้องรอให้น้ำมันในถังหมด และผู้ใช้รถไม่ต้องดำเนินการปรับแต่งเครื่องยนต์แต่อย่างใด เพราะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเครื่องยนต์ และมีคุณสมบัติทำให้เกิดการเผาไหม้ของเครื่องยนต์สมบูรณ์ยิ่งขึ้นด้วย

ส่วนที่หลาย ๆ คนนึกถึง ปัญหาของเอทิลแอลกอฮอล์ ที่อาจส่งผลให้ชิ้นส่วนบางตัวในระบบเชื้อเพลิงมีปัญหา โดยเฉพาะชิ้นส่วนที่ทำจากยางนั้น ก็บอกว่ามันก็มีปัญหาบ้างล่ะ และกว่าจะถึงขั้นรั่วหรือปริแตกนั้น ก็คงใช้เวลาเป็นปี ๆ โดยรวมก็คงไม่น้อยไปกว่าการใช้เบนซินอย่างเดียวเป็นเชื้อเพลิงหรอก

อยากจะฝากเตือนถึง ท่านที่ยังใช้รถยนต์ติดแก๊สไม่ว่าจะ LPG หรือ NGV เป็นเชื้อเพลิงประจำรถ ควรจะเติมน้ำมันเบนซิน 91 หรือ 95 ขังไว้ในถังแทนน้ำมันแก๊สโซฮอล์ด้วย ไม่อย่างนั้น นอกจากจะต้องเสียเงินค่าล้างถังน้ำมันแล้ว ท่านยังจะต้องเสียเงินค่าเปลี่ยนปั๊มติ๊กหรือปั๊มเชื้อเพลิงไฟฟ้าเพิ่มอีกด้วย

ยิ่งรถที่ใช้แก๊สเป็นประจำด้วยแล้ว ยิ่งต้องระวังให้ดี เพราะส่วนใหญ่จะใช้น้ำมัน ก็แค่ตอนสตาร์ทเครื่องยนต์ และเพื่อให้ Save สุด ๆ ก็ต้องเติมน้ำมันแก๊สโซฮอล์ขังไว้ในถัง ประมาณ 15 – 20 ลิตรเท่านั้น แต่น้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่ขังไว้ในถังรถ สามารถสร้างน้ำให้ออกมากองอยู่ก้นถังได้ไม่น้อยกว่าลิตรหรือ 2 ลิตรเป็นอย่างต่ำทีเดียว

สังเกตได้ง่าย ๆ ว่า รถที่วิ่งด้วยเชื้อเพลิงแก๊สเป็นประจำ แล้วขังน้ำมันแก๊สโซฮอล์ไว้ในถังเป็นประจำอีกเช่นกัน พอจะหันกลับมาใช้น้ำมัน ผลก็คือ จะใช้น้ำมันไม่ได้ เนื่องจากน้ำมันไม่จ่าย ก็จะจ่ายได้ยังไงล่ะ ในเมื่อปั๊มเชื้อเพลิงไฟฟ้า หรือที่เรียกว่า ปั๊มติ๊ก ซึ่งส่วนใหญ่มักถูกติดตั้งอยู่ในถังน้ำมัน เรียกได้ว่าตายสนิท เพราะมันไม่ได้แช่น้ำมันเพียงอย่างเดียวนะสิ มันแช่น้ำอยู่ด้วย ก็เลยเกิดสนิมขึ้นที่ตัวปั๊มติ๊ก เมื่อสนิมเกาะเขรอะไปทั้งตัว แล้วปั๊มติ๊กจะทำงานได้ยังไงล่ะ จริงไหม? ฝากไว้ด้วยนะ!

อ่านข่าวต้นฉบับ:

อมรินทร์ทีวี ทันข่าวได้ที่

เว็บไซต์:www.amarintv.com

เรื่องธุรกิจที่ :ติดตาม SPOTLIGHT มองขาดทุกโอกาสธุรกิจ

2024-04-21T03:55:26Z dg43tfdfdgfd