FORD TRIO X MONG TONG บทสนทนาสุดซิ่งเมื่อวง ‘ไทยฟังก์’ ปะทะวงดนตรีทดลองจากไต้หวัน

ภาพ : เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ท่ามกลางศิลปินรุ่นใหม่จำนวนมากที่ทำเพลงหลากหลายแนวทาง ‘FORD TRIO’ เป็นหนึ่งในวงดนตรีที่มีไอเดียสุดล้ำ พวกเขาสร้างซาวนด์อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ด้วยการนำแนวดนตรีจากหลากหลาย Genre อย่าง บลูส์, แจ๊ซ, ไซคีเดลิก มาผสมผสานกับดนตรีฟังก์ จากยุค 70’s 

หากใครได้ฟังเพลงของพวกเขา จะได้พบกับจังหวะคึกคักชวนเต้น และในขณะเดียวกันวงก็นำกลิ่นอายของดนตรีไทยดั้งเดิมมาเป็นวัตถุดิบลับ เพิ่มรสชาติให้จัดจ้านมากขึ้น

RAINY THERAPY อีพีชุดแรกของวงเป็นงานเพลงที่ดึงผู้ฟังเข้าสู่ภวังค์ด้วยเพลงช้าหม่นๆ ด้วยดนตรีแนวป๊อป บัลลาด ที่ยังไม่ได้มีลายเซ็นเป็นของตัวเองมากนัก แต่หลังจากที่วงปล่อย Self-Titled อัลบั้มออกมาในปี 2020 สิ่งที่สัมผัสได้อย่างชัดเจนคือความกล้าหาญ พวกเขานำดนตรีแนวอื่นๆ เข้ามาเล่นแร่แปรธาตุไม่ต่างไปจากการทดลองในห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ และความกล้าหาญนี่แหละที่ทำให้ FORD TRIO ได้พบกับแร่ธาตุทางดนตรีที่วงไม่เคยพบมาก่อน ทั้งยังดูเหมือนว่าพวกเขาจะสนุกมากๆ กับการร้องเล่นในห้องปฏิบัติการทางดนตรีอันไร้ขอบเขต และมีไอเดียใหม่ๆ ให้ทดลองอยู่ตลอดเวลา

อีพี OUCH และอัลบั้ม Let Them Kids See เป็นงานเพลงที่โดดเด่นอย่างยิ่งในการใช้ซาวนด์ไซคีเดลิก, โลไฟ, บลูส์, ฟังก์โซล, เอซิดร็อก, เคราต์ร็อก (Krautrock) ไปจนถึงนีโอไซคีเดลิก ที่ฟังแล้วให้ความรู้สึกเหมือนฟังงานเพลงของ Jimi Hendrix, Jefferson Airplane, Stevie Wonder, The Doors ไปจนถึงงานเพลงหลายชุดในช่วงปลายยุค 60’s ของวง The Beatles และสีสันของดนตรีฟังก์ที่มีกลิ่นอายของดนตรีทดลอง ก็ทำให้รู้สึกเหมือนได้ฟังงานเพลงของ Prince ผสมกับวง The Flaming Lips อยู่ไม่น้อย (และโดยส่วนตัวแล้วผมมองว่าซาวนด์ดนตรีของวง FORD TRIO ทำให้รู้สึกเหมือนกำลังฟังงานเพลงของวงไซคีเดลิกร็อกยอดฝีมือสัญชาติญี่ปุ่นอย่าง Kikagaku Moyo อยู่บ้างเหมือนกัน)

ล่าสุด FORD TRIO ได้ปล่อยอีพีใหม่ที่มีชื่อว่า KHUN PRA! 東福 อีพีนี้พวกเขามีโอกาสร่วมงานกับ Mong Tong วงดนตรีทดลองจากไต้หวัน และเป็นอีพีที่นำเครื่องดนตรีพื้นบ้านของไทยมาสร้างจังหวะ รายล้อมไปด้วยซาวนด์สุดหลอน 

อะไรที่ทำให้ FORD TRIO มีโอกาสได้มาร่วมทำเพลงกับวง Mong Tong แถมยังได้เดินสายทัวร์คอนเสิร์ตในไทยร่วมกัน และกว่าจะมีวันนี้ FORD TRIO จะต้องผ่านอะไรมาบ้าง?

ไทยรัฐพลัสขอชวนทุกคนมารู้จักกับ 3 สมาชิกจากวง FORD TRIO ฝอด (ร้องนำ, กีตาร์), หมอ (เบส, ร้องคอรัส) และ เจมส์ (กลอง) ล้อมวงคุยไปพร้อมกับวง Mong Tong จากไต้หวัน ได้แก่ ชิ (Jiun Chi: กีตาร์, ซินธิไซเซอร์, เพอคัสชัน) และ ฮอมยู (Hom Yu: เบส, ร้อง)

บทสนทนาครั้งนี้ทำให้เราได้เห็นถึงทัศนคติที่ทั้ง 2 วงมีต่อศิลปะดนตรีในกระแส, นอกกระแส ไปจนถึงดนตรีทดลองของทั้งไทยและไต้หวันในหลากหลายแง่มุม ถ้าพร้อมแล้วเราขอชวนให้ซิ่งไปพร้อมกับพวกเขาในบรรทัดต่อไป

Q : วง FORD TRIO และ Mong Tong มาทำเพลงด้วยกันได้อย่างไร รู้สึกอย่างไรบ้างที่ได้ทำเพลงกับวงดนตรีทดลองจากไต้หวันวงนี้

ฝอด : โปรเจกต์นี้เริ่มมาจากพี่ Lemmy (เฉลิมพล สูงศักดิ์ Executive Producer บริษัท NEWECHOES) ที่อยากจะหาอะไรใหม่ๆ ให้ FORD TRIO ทำเพิ่มเติม หลังจากที่อัลบั้มที่แล้ว (Let Them Kids See) เราได้ไปฟีเจอริงกับ คาโอรุ ฮาชิโมโตะ (สมาชิกวงญี่ปุ่น Helsinki Lambda Club) ในเพลง “เปล่าเลย” 

พอจบชุดนั้น เราก็มีไอเดียว่าน่าจะทำอัลบั้มทดลองที่ได้ร่วมงานกับวง Mong Tong ซึ่งการที่ได้ลองทำอัลบั้มชุดนี้เป็นสิ่งที่ใหม่มากสำหรับพวกเรา

Q : แล้วพวกคุณทั้ง 2 คนล่ะครับ พอจะบอกได้ไหมว่าขั้นตอนการทำงานเพลงระหว่าง Mong Tong และวง FORD TRIO เป็นอย่างไรบ้าง และรู้สึกอย่างไรที่ได้รู้จัก, เดินทาง และเดินสายทัวร์คอนเสิร์ตกับพวกเขา

ชิ : พวกเราบันทึกเสียงกันที่สตูดิโอข้างบนนี้นี่เองครับ สิ่งที่เราต้องการคือนักดนตรีที่เล่นดนตรีไทยพื้นบ้านได้ ซึ่งทาง NEWECHOES และวง FORD TRIO ก็หามาให้เราได้ 

จริงๆ แล้วพวกเราไม่คุ้นเคยกับดนตรีพื้นบ้านเท่าไรเลยใช้วิธีการแจม เล่นดนตรีโดยอาศัยทักษะจากการฟัง เพื่อที่จะเข้าใจธรรมชาติของเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นให้ได้มากที่สุดและมีความสุขไปกับมัน ซึ่งก็ออกมาเป็นธรรมชาติมากๆ เลย 

ขั้นตอนการทำเพลงไม่ได้เตรียมตัวอะไรมากครับ แค่เล่นดนตรีแจมกันไปเรื่อยๆ ในระหว่างการอัดเสียง ตอนที่อัดเสียงไม่มีใครรู้ด้วยซ้ำว่าจะใช้ท่อนไหน แต่พวกเราเลือกกันทีหลังจนกลายเป็น 2 เพลงในอีพีชุดใหม่นี้ ผมคิดว่าผลลัพธ์ของดนตรีที่เราแจมกันออกมาดีมากเลยนะครับ เพราะทุกคนมีอิสระในการเสนอไอเดีย ที่สำคัญที่สุดก็คือมันสนุกมากๆ เลย

Q : KHUN PRA! 東福 ชื่ออัลบั้มเป็นคำอุทานใช่ไหมครับ อะไรดลใจให้ตั้งชื่ออัลบั้มว่า คุณพระ!

หมอ : ใช่ครับ มันเป็นคำอุทาน จริงๆ ชื่อเต็มคือคุณพระช่วยนั่นแหละครับ เราอยากได้คำที่มาช่วยอธิบายถึงภาพรวมของงานเพลงทั้งหมด ผมมองว่ามันน่าจะเป็นคำอุทานที่เชื่อมโยงไปทางด้านของศาสนาก็เลยเป็นคำนี้ ตอนแรกเราก็ใช้คำเต็มเลยว่าคุณพระช่วย แต่มันยาวไปก็เลยเหลือแค่คำว่าคุณพระ 

ฟังแล้วมันจะมีความรู้สึกแบบเอามือทาบอก “คุณพระ!” อะไรแบบนี้ เลยเอาชื่อนี้ไปเสนอวง Mong Tong แล้วอธิบายความหมายของมัน ซึ่งพวกเขาก็ชอบด้วย

Q : ซาวนด์ดนตรีในอีพี KHUN PRA! 東福 มีความลึกซึ้งพอสมควร เพราะว่ามันมีการใช้ซาวนด์ดีไซน์แบบหลอนๆ และดนตรีไซคีเดลิกที่มิกซ์กับเครื่องดนตรีไทยอย่าง ฉิ่ง, ฉาบ, ระนาด, ฆ้อง, กลองแขก ซึ่งพอมันมาเล่นผ่านเครื่องดนตรีสังเคราะห์ เสียงดนตรีมันก็เลยฟังค่อนข้างเพี้ยนและบิดเบี้ยว (Distort) ไปจากเสียงของมันจริงๆ อยากรู้เบื้องหลังไอเดียในการทำเพลงทดลองแบบนี้ออกมา

ฝอด : (นิ่งคิด) ขั้นตอนแรกมันเริ่มมาจากเราแลกเปลี่ยนเดโม่กับวง Mong Tong แบบออนไลน์ ช่วงเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่วง Mong Tong เดินทางมาโชว์ที่ไทยพอดี พวกเราเลยคิดว่ามันน่าจะมีช่วงที่เราใช้เวลาร่วมกัน เพื่อที่จะละลายพฤติกรรมและได้ทำเพลงด้วยกันได้อย่างราบรื่นที่สุด 

พอได้ใช้เวลาด้วยกันแล้ว ผมก็คิดว่ามันน่าจะมีเวิร์กช็อปที่เป็นเครื่องดนตรีไทยและเครื่องให้จังหวะ (Percussion) ไทยด้วย ซึ่งผมเองก็รู้จักกับน้องๆ ที่เรียนเอกดนตรีไทยอยู่แล้วก็เลยชวนมา รวมถึงครูบารมีกับครูแชมป์ที่เล่นดนตรีไทยด้วย ทุกคนได้สอนให้ ชิ กับ ฮอมยู เล่นดนตรีไทย พอเริ่มเรียนดนตรีขั้นต้นไปได้สักพัก เราก็เริ่มอัดเสียงกันเลย

หมอ : เพลงที่อัดเก็บซึ่งวง Mong Tong เล่นคือเพลงที่ 1 (Alright Alright) กับเพลงที่ 3 (BNK) ของอีพีครับ คือเราเพิ่งจะสอนและเล่นดนตรีไทยกันตอนนั้นเอง แต่ก็ลองอัดเก็บไว้เลย ซึ่งก็เป็นอย่างที่วง Mong Tong ได้พูดไว้ว่ามันเป็นการแจมกัน ถึงแม้ว่าแต่ละคนจะไม่ได้เก่งในการเล่นเครื่องดนตรีชิ้นนั้นๆ แต่พอรู้ว่ามันสร้างเสียงอะไรได้บ้าง เราก็พยายามแจมกันเพื่อให้ดนตรีได้เกิดขึ้นมาตรงนั้นเลย

Q : ทาง Mong Tong ล่ะครับ ประทับใจอะไรในเครื่องดนตรีไทย ในความคิดของพวกคุณ เครื่องดนตรีพื้นบ้านไทยมีเสียงคล้ายกับเครื่องดนตรีพื้นบ้านของไต้หวันบ้างไหม

ชิ : ผมคิดว่าเครื่องเป่า รวมถึงให้เครื่องให้จังหวะของดนตรีไทยบางชิ้นให้เสียงที่คล้ายๆ กับเครื่องดนตรีพื้นบ้านของไต้หวันบ้างเหมือนกันนะ แต่ถ้าพูดถึงภาพรวมของดนตรีพื้นถิ่น หรือพื้นเมืองของไทยและไต้หวัน มันก็ต่างกันค่อนข้างเยอะเหมือนกัน

Q : เครื่องดนตรีไทยพื้นบ้านเล่นยากไหม

ชิ : ใช่ครับ มันเล่นยากมากเลย!

ฮอนยู : ดนตรีไทยเป็นดนตรีที่คุณต้องเรียนรู้ธรรมชาติของเสียงที่ออกมาค่อนข้างมาก เพราะมันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสูง การเรียนรู้ดนตรีไทยพื้นบ้านที่ดีที่สุดก็คือการเข้าร่วมกลุ่มของนักดนตรี แล้วให้พวกเขาเล่นให้ฟังก่อน หลังจากนั้นพอจับจังหวะ หรือวิธีการเล่นได้แล้ว เราก็เข้าไปร่วมเล่นกับวงไปพร้อมๆ กัน แล้วให้นักดนตรีสอนเราว่าควรจะเล่นออกมาให้ถูกต้องอย่างไร 

พอได้เรียนทีนี้ผมก็ได้ครูแล้ว และมองว่าคนนี้คือครูสอนดนตรีไทยของเรานะ ช่วยสอนผมหน่อย ส่วนวงดนตรีพื้นบ้านไต้หวันอย่างเป่ยกวน (Beiguan Music คือดนตรีพื้นบ้านที่นำเครื่องดนตรีพื้นถิ่นหลายชนิดมาเล่นเป็นวงใหญ่) เป็นดนตรีที่มีความเชื่อมโยงกับจิตวิญญาณและศาสนา ซึ่งผมมองว่ามันคล้ายกับสำเนียงดนตรีพื้นบ้านของไทยพอสมควร

ฝอด : ตอนที่ทำอีพีเป็นเดโม่ร่วมกับวง Mong Tong แบบออนไลน์ มันมีเพลงร้องจำนวนหนึ่งที่ทำเอาไว้แล้วครับ ทาง FORD TRIO มองว่ามันชัดเจนแล้วว่าอีพีชุดนี้มีความเป็น FORD TRIO แต่เราก็มาค้นหาทีหลังว่าในฟากของ Mong Tong ที่เป็นดนตรีทดลอง เราจะใส่ตัวตนความเป็นวงของพวกเขาเอาไว้ในงานเพลงอย่างไรดี เราเลยลองใช้เสียงของเครื่องดนตรีไทยเป็นเหมือนวัตถุดิบและสารตั้งต้นในการสร้างดนตรีทดลองขึ้นมา

หมอ : มันเป็นการล้อกับคอนเซปต์ของ Mong Tong ด้วยครับ คอนเซปต์ของเขาคือการตั้งคำถามว่า จะเป็นอย่างไรถ้าหากเอาคนโบราณคนยุคเก่ามาเล่นเครื่องดนตรีสมัยใหม่

เจมส์ : คือ Mong Tong เป็นวงที่เล่นเครื่องดนตรีพื้นถิ่นของไต้หวันอยู่แล้วด้วยครับ เราก็เลยเกิดแนวคิดว่าอยากให้พวกเขาลองมาเล่นเครื่องดนตรีไทยบ้านเราบ้าง แล้วดูว่ามันจะออกมาเป็นอย่างไร

ฝอด : การเรียนดนตรีไทยแค่ 2 ชั่วโมง มันไม่สามารถทำให้เราเล่นดนตรีไทยเป็นสำเนียงไทยเป๊ะๆ ได้อยู่แล้ว คือครูดนตรีไทยจะสอนประมาณว่า เครื่องดนตรีชนิดนี้มันให้เสียงได้ประมาณ 5 เสียงนะ เราก็โอเค รู้แค่นี้ก็พอ จากนั้นเราก็กดปุ่มอัดแล้วลองเล่นดูเลย นับว่าเป็นดนตรีแนวจิตวิญญาณอย่างแท้จริง (หัวเราะ)

Q : ถ้าอย่างนั้นผมมองว่ามันน่าจะเป็นการเล่นดนตรีที่เน้นการด้นสด (Improvise) ค่อนข้างมากเลยนะ ใช่ไหมครับ

หมอ : ใช่ครับ เพลงของเราฟังแล้วจะมีความรู้สึกแบบนั้น (การด้นสด) อย่างแทร็กแรกของอีพี ฝอดจะเล่นกีตาร์ ผมจะอยู่ที่เบส รู้แค่นั้น พอเข้าตำแหน่งแล้วมารู้ตัวอีกทีก็คือ เฮ้ย! นี่อัดกันแล้วเหรอ คีย์อะไรเนี่ย ซึ่งเราต้องมาหากันสดๆ ตรงนั้นเลย และต้องมาหาว่ากีตาร์เนี่ยเราจะเล่นอะไรให้มันเข้ากับสิ่งที่พวกเขากำลังเล่นกันอยู่ ยากอยู่ประมาณนึงครับ แต่พอเริ่มจะจับทางได้แล้ว เราก็จะประคองการเล่นไปเรื่อยๆ 

เพลง Alright Alright เป็นการแจมกันครั้งแรกเลย มันเป็นเพลงที่เราดูสถานการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้น ดนตรีแต่ละชิ้นกำลังเล่นอะไรอยู่ พอแจมไปเรื่อยๆ ก็จะค่อยๆ Shape จนเกิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ระหว่างทางก็จะลด-เพิ่ม-ขยายจนกระทั่งจบเพลง ท้ายเพลงจะได้ยินฝอดร้องว่า Alright Alright นั่นหมายความ เฮ้ย! เออ มันก็ทำได้นี่หว่า การแจมอย่างนี้มันก็ทำให้เป็นเพลงได้อยู่นะ

ฝอด : จริงๆ เราอัดไปหลายรูปแบบอยู่นะครับ อย่างเช่นอัดเทกยาว หรือว่าอัดเสียงแยก แต่สุดท้ายแล้วเพลงที่เขาเลือกมาก็คือเพลงที่อยู่ในอีพี

Q : ถ้าจะบอกกับคนที่ไม่รู้จักวงเลย, ไม่เคยฟังเพลงของวงมาก่อน เราจะบอกพวกเขาว่า FORD TRIO เป็นวงแบบไหน และจุดเด่นของวงคืออะไร

ฝอด : FORD TRIO ก็เป็นวงดนตรีที่เป็น Nerd Music ครับ ทำเพลงแปลกๆ เป็นแนวดนตรีที่เรากำลังรู้สึกอยู่และอยากนำเสนอออกมาในช่วงเวลานั้นๆ ส่วนใหญ่จะเป็นดนตรีที่วนอยู่กับ Groove ในความเป็นดนตรีฟังก์ครับ

หมอ : สำหรับผม FORD TRIO เป็นวงในแบบ Rhythm Music (ดนตรีที่เน้นการสร้างจังหวะ) มันเป็นแนวทางของวงมาโดยตลอดครับ ซึ่งดนตรีสไตล์นี้จะเป็นแนวฟังก์, โซล, อาร์แอนด์บี แต่จะมีการปรับเปลี่ยนสไตล์ไปพร้อมๆ กันด้วยตามความรู้สึกและยุคสมัย อย่างเช่นในตอนนี้เราจะเรียกตัวเองว่าเป็น ไทยฟังก์ แต่ถ้าหากว่าเป็นปีที่แล้วเรามองว่ามันยังเป็นอีกวงนึงอยู่ ซึ่งพอมาถึงตอนนี้ก็เป็นวงที่มีการปรับเปลี่ยนอะไรเยอะอยู่เหมือนกัน

Q : แล้ววง Mong Tong ล่ะ มองดนตรีของวง FORD TRIO ว่าเป็นวงดนตรีแนวไหน

ชิ : ในมุมมองของผมนะ ผมมองว่า FORD TRIO เป็นวงไทยฟังก์ยุคใหม่ที่มีความชัดเจนในเรื่องของซาวนด์มากๆ เท่าที่ผมฟังเพลงไทยโดยรวมมา ดนตรีร่วมสมัยของไทยได้รับอิทธิพลมาจากดนตรีฟังก์ค่อนข้างมาก 

ส่วนวงของเราผมมองว่า Mong Tong ก็เป็นวงฟังก์วงนึงในประเทศไทยเหมือนกัน เพราะตอนทำเพลงกับ FORD TRIO เราก็ได้รับอิทธิพลในการเล่นดนตรีมาจากดนตรีฟังก์แบบไทยๆ ผมว่าไทยฟังก์เป็นดนตรีที่มีความสำคัญและสร้างความประหลาดใจให้กับผมด้วย

Q : FORD TRIO เป็นวงที่มีพลังล้นเหลือมากๆ มีความสนุก ขี้เล่น ส่วนดนตรีและเนื้อร้องก็แฝงความเป็นไทยในมุมมองส่วนตัวเอาไว้ด้วย ฟังแล้วรู้สึกได้เลยว่านี่คือเพลงไทยสากลร่วมสมัยที่มีอัตลักษณ์ของวงอยู่ในนั้น เราตั้งใจทำเพลงให้ออกมาเป็นแบบนี้อยู่แล้ว หรือว่าพอทำเพลงไปเรื่อยๆ แล้วดนตรีที่เราเล่นมัน Shape ตัวของมันเอง

ฝอด : มันเกิดขึ้นหลังจากที่เรามีโอกาสได้ไปต่างประเทศ 2-3 ครั้งครับ อันดับแรกเลยคือเราได้มีโอกาสทำงานเพลงกับวง Helsinki Lambda Club บังเอิญที่ว่าเพลงนั้นมันมีริฟฟ์ที่มีความไทย แล้วทางศิลปินญี่ปุ่นก็บอกเราว่า นี่มัน ‘ไทยซาวนด์’ นะ ตอนที่เราออกไปเล่นที่ญี่ปุ่นครั้งแรกก็มีคนบอกแบบนี้เหมือนกัน แล้วพวกเขาก็ชอบกันมากเลย 

ตอนแรกเราก็ไม่ได้มองว่าเราเป็นวงที่ผสมความเป็นไทยลงไปอะไรขนาดนั้น แต่ผมว่ามันก็เป็นอีกวิธีการนึงในการพรีเซนต์ตัวเราเองว่าเราเป็นใคร เสียงของเราเป็นยังไง ทำให้คนฟังได้รู้จักตัวตนของวงผ่านสำเนียงดนตรีที่เล่นออกมา เราก็เลยกลับมาค้นคว้าว่าตัวตนของเรามันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ มันเป็นเสน่ห์ของคนไทยอยู่แล้ว เพราะคนไทยเป็นคนสนุกๆ เราพยายามเก็บสิ่งที่เรามีอยู่มาใช้ในการทำเพลงและการเล่นสด เพื่อให้ท่อนมันสนุกขึ้น โจ๊ะขึ้นในแบบของเรา เพื่อที่จะทำให้เราเป็นวงที่แข็งแรงและพร้อมที่จะไปแสดงตัวตนให้ทั่วโลกได้เห็นครับ

Q : ในความเห็นของ Mong Tong คิดว่าไทยซาวนด์เป็นอย่างไร

ชิ : ผมมองว่าซาวนด์กีตาร์ของวง FORD TRIO สะท้อนความเป็นไทยซาวนด์ได้ค่อนข้างชัดเลยนะ มันมีท่วงทำนองที่ไม่เหมือนประเทศอื่นๆ

ฮอนยู : นายคิดว่ามันอยู่ที่เมโลดีด้วยหรือเปล่า? หมายความว่ามันมีเมโลดีแบบไทยๆ น่ะ

ชิ : เมโลดีเหรอ ผมว่ามันก็มีส่วนนะ แต่ซาวนด์กีตาร์มันแสดงออกมาชัดกว่า (ทำเสียงเลียนแบบริฟฟ์กีตาร์แบบฟังก์ร็อก) มันไทยมากเลย (หมอถามเสริมว่า ความเป็นไทยซาวนด์อยู่ที่ริทึมด้วยใช่ไหม?) ใช่ครับ ถูกต้องเลย ท่ามกลางวัฒนธรรมเอเชียโดยรวม รวมถึงประเทศทุกประเทศในทวีปเอเชียด้วย ผมคิดว่ามันยากที่จะหาประเทศไหนที่จะสร้างสำเนียงดนตรีให้เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นได้เท่ากับดนตรีไทยฟังก์ หายากเลยแหละ 

ในความคิดของผม ดนตรีเอเชียไม่ว่าจะเป็นแบบดั้งเดิม หรือว่าร่วมสมัยก็ตาม เมโลดีจะเป็นสิ่งที่สร้างอัตลักษณ์ หรือว่าความโดดเด่นทางวัฒนธรรมเฉพาะของประเทศนั้นๆ ออกมาอย่างชัดเจนที่สุด แต่สำหรับวงดนตรีไทยฟังก์ มันจะมีท่วงทำนองของดนตรีฟังก์จากยุค 70’s และ 80’s มาผสมผสานกับสไตล์ดนตรีที่เป็นแบบฉบับของแต่ละวงได้อย่างน่าสนใจมาก ซึ่งผมชอบมากและผมก็ชอบดนตรีในแบบฉบับของวง FORD TRIO มากด้วย ผมเองก็อยากจะฟังเพลงไทยเก่าๆ อย่างเช่น หมอลำ, ลูกทุ่ง และอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย

Q : FORD TRIO, Mong Tong แล้วก็วง JBPS เพิ่งจะไปอีสานมา (เล่นที่ Romeo had Juliette มหาสารคาม วันที่ 10 กรกฎาคม และ Here Another Sound ที่อุบลราชธานี วันที่ 11 กรกฎาคม) โชว์เป็นอย่างไรบ้าง

ฝอด : สนุกครับ นั่งรถยาวเลย ส่วนตัวผมรู้สึกเซอร์ไพรส์กับผู้ชมมาก ทุกคนเปิดใจมาก ส่วนบรรยากาศของสถานที่จัดคอนเสิร์ตทั้ง 2 แห่ง มันดีมากเลยครับ คนดูชอบและตั้งใจฟังกันมากตอน Mong Tong เล่นจบก็มีการขออังกอร์ด้วย อันนี้คือเซอร์ไพรส์เลย

หมอ : ปกติถ้าเขาจะมาดูวง FORD TRIO เขาต้องจองที่พักแล้วก็ต้องจองตั๋วเครื่องบินมาดูเราเล่นที่กรุงเทพฯ แต่การที่เราไปที่ต่างจังหวัด เราได้พบกับคนดูที่มีความสุขและปลื้มมากๆ ที่เราไปหาพวกเขาถึงบ้านเลย ผมมองว่าทัวร์อีสานของวงดนตรีในแนวทางนี้มันยังไม่ค่อยเกิดขึ้นเยอะ เพราะด้วยซีนโชว์งานศิลปะต่างๆ เมื่อก่อนมันยังเข้าไปถึงแบบจำกัดอยู่ แต่ในตอนนี้ผมมองว่ามันเริ่มพัฒนามากขึ้น ทั้งในฝั่งดนตรีและงานศิลปะแขนงอื่นๆ ด้วย ในอนาคตผมคิดว่าซีนงานศิลปะในอีสานจะเติบโตขึ้นมากกว่านี้แน่นอนครับ

Q : การได้เล่นคอนเสิร์ตในต่างจังหวัด มันให้ความรู้สึกอย่างไรบ้างสำหรับวง Mong Tong ผู้ชมมีความแตกต่างไปจากที่กรุงเทพฯ แค่ไหน

ชิ : ผมคิดว่าผู้ชมต่างจังหวัดมีความอดทนมากกว่า จำนวนผู้ชมอาจจะน้อยกว่า แต่พลังงานที่ผู้ชมต่างจังหวัดส่งมาให้กับพวกเรามีมากกว่านะครับ 

ฮอนยู : แฟนเพลงที่นั่นเข้ามาคุยกับเราเยอะเลย ไม่ขี้อายเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมากเลยครับ

Q : ผมคิดว่าพวกเขาชอบโชว์ของ Mong Tong นะ เพราะว่าผู้ชมขออังกอร์หลังจากที่จบโชว์ปกติไปแล้วด้วย

ชิ : ผมว่าเราทำโชว์ให้ออกมาดีด้วยแหละครับ ผมได้ยินมาว่าส่วนใหญ่วงไทยจะไปทัวร์คอนเสิร์ตกันที่เชียงใหม่อะไรแบบนี้มากกว่า ส่วนโชว์ที่กรุงเทพฯ ก็จัดกันเป็นปกติอยู่แล้ว ผมคิดว่านี่อาจจะเป็นการนำร่องไปสู่การทัวร์คอนเสิร์ตในภาคอีสาน รวมถึงจังหวัดอื่นๆ ที่วงไทย รวมถึงวงต่างประเทศไม่ค่อยมีโอกาสได้ไปโชว์ในอนาคตด้วย ผมหวังว่าในปีต่อๆ ไปเราจะได้มีโอกาสไปทัวร์คอนเสิร์ตที่จังหวัดอื่นๆ อาจจะเป็นจังหวัด หรืออำเภอที่มีความ Local มากกว่านี้

Q : 1-100 เป็นเพลงที่ส่วนตัวแล้วผมชอบมาก มันมีความกวนในเนื้อหา ส่วนเนื้อเพลงก็มีสัมผัสของคำที่คล้องจองกัน ที่มาของแรงบันดาลใจในการแต่งเพลงนี้มาจากไหน รวมถึงแรงบันดาลใจในการแต่งเพลงอื่นๆ ของวง FORD TRIO ซึ่งเนื้อหาค่อนข้างมีความเชื่อมโยงกันด้วย

ฝอด : เนื้อเพลงของวง FORD TRIO ในช่วงแรกที่เราตั้งวงกัน อีพีชุดแรก (Rainy Therapy) เนื้อหาก็เหมือนกับวงไทยที่เป็นเพื่อนๆ กันเลย เนื้อเพลงจะพูดถึงความรักบ้างหรือว่าเรื่องราวต่างๆ ในชีวิต แต่พอเข้าอัลบั้มแรก ซึ่งเป็นงานเพลงชุดที่ 2 เราอยากสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยการหาความแตกต่างบางอย่างในเนื้อเพลง ผมเลยเริ่มเขียนเนื้อเพลงที่มันหลุดออกไปเลยบ้าง จะมีเพลงที่เกี่ยวกับการฟังเรื่องผี (เพลง Ghost Story) หรือเพลง เห้ยจารย์ ซึ่งเราตั้งใจที่จะให้มันแปลกหลุดโลกไปเลย 

พอมาอัลบั้ม Let Them Kids See ก็อยากให้มันหลุดโลกอยู่ แต่ก็ต้องการให้มันเชื่อมโยงกับชีวิตมากขึ้น อย่างเพลง 1-100 ก็เป็นเพลงที่เอาความรู้สึกของการเป็นลูกน้องในที่ทำงานมาเขียน ซึ่งผมก็คิดว่ามันน่าจะเชื่อมโยงกับคนที่อยู่ในเจนเดียวกับพวกเรา ที่พอต้องเริ่มหางานทำก็ต้องเป็นลูกน้องพี่เขาก่อน ประมาณนี้ครับ

Q : เพลงของ FORD TRIO ถ้าฟังแบบลงลึกในรายละเอียดหน่อย มันจะมีส่วนผสมของแนวดนตรีที่หลากหลายมาก แน่นอนว่าที่ชัดที่สุดคือฟังก์กับไซคีเดลิก แต่ก็ยังมีการนำซาวนด์ของแนวดนตรีอื่นๆ เข้ามาผสมด้วยอย่าง บลูส์, โซล, แจ๊ซ ไปจนถึงเอซิดร็อก ฟังแล้วให้ความรู้สึกคล้ายกับการฟังงานเพลงในยุคแรกๆ ของพี่โป้-โยคีเพลย์บอย ทางวงมีศิลปินที่ชอบ หรือว่ามีอะไรที่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการทำงานเพลงบ้าง

หมอ : ถ้าพี่โป้ก็ถูกต้องเลยครับ

ฝอด : พี่โป้-โยคีเพลย์บอย นี่ใช่เลย ผมจะชอบนักแต่งเพลงโซนๆ นั้น ยุคเบเกอรี่ที่ผมชอบก็จะมีพี่โป้, พี่บอย-ตรัย อาจจะแวบไปชอบพี่จุ๋ยจุ๋ยส์บ้าง รวมถึงวงอย่าง Paradox ที่เขาจะเขียนเพลงในคอนเซปต์หลุดโลกเหมือนกัน 

ส่วนแรงบันดาลใจที่ทุกคนในวงชอบเหมือนกันก็จะเป็นศิลปินที่ทำเพลงเน้น Groove อย่างเราจะชอบ จอห์น เมเยอร์, สตีวี วอนเดอร์ กัน เจอกันในมหาวิทยาลัยก็ตั้งวงเล่นดนตรีมันๆ ในแนวนี้กันเป็นส่วนใหญ่

Q : ในฐานะที่วง Mong Tong เล่นดนตรีทดลองเป็นหลัก ซีนดนตรีทดลองในไต้หวันในตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง

ชิ : วงการดนตรีทดลองในไต้หวันตอนนี้โตขึ้นเรื่อยๆ เลยครับ พวกเราติดตามความเคลื่อนไหวทั้งในซีนดนตรีนอกกระแส รวมถึงกระแสความนิยมของดนตรีแนวต่างๆ ของนักศึกษาเอกดนตรีในมหาวิทยาลัยและสถาบันดนตรีหลายๆ แห่งในไต้หวันด้วย 

เราพบว่าในปัจจุบันศิลปินที่สร้างสรรค์ดนตรีในเชิงศิลปะ หรือดนตรีทดลอง จะมาจากสถาบันสอนศิลปะเสียเป็นส่วนใหญ่ ในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา วงการดนตรีทดลองในไต้หวันมีการเคลื่อนไหวในทางที่ดีขึ้น มีกลุ่มคนสร้างงานและกลุ่มคนฟังมากขึ้นตลอด วงเรามีคอนเนกชันที่ดีกับซีนดนตรีทดลองในประเทศอินโดนีเซียด้วย ผมคิดว่ามันเจ๋งมากที่เราขายบัตรสำหรับโชว์ในต่างประเทศ และมีคนมาดูไม่ต่ำกว่า 50 คน ซึ่งผมคิดว่ามันก็เยอะมากแล้วสำหรับดนตรีแนวนี้ ที่สำคัญก็คือเราสามารถเดินสายโชว์ในต่างประเทศได้ด้วย

Q : นอกจาก FORD TRIO แล้ว Mong Tong ได้ร่วมงานกับวงดนตรีวงอื่นๆ ในเอเชียอีกบ้างไหม?

ชิ : เราได้ร่วมงานกับวง Gong Gong Gong 工工工 (วงดนตรีร็อกทดลองและโพสต์ร็อกจากฮ่องกง) เราเพิ่งปล่อยงานเพลงที่ทำกับวงนี้เมื่อ 2-3 เดือนที่แล้ว ส่วนขั้นตอนการทำงานกับวงนี้ก็คือเราเดินทางไปฮ่องกงเพื่อแจมดนตรีกันทั้งวันเลย หลังจากนั้นก็มาช่วยกันคัดเลือกเพลง เราวางแผนที่จะปล่อยอัลบั้ม 4 ชุดที่แจมดนตรีกับวง Gong Gong Gong ในปีหน้าครับ (จากการค้นหาข้อมูลพบว่า Jamming Project นี้ มีชื่อว่า Mongkok Duel 旺角龍虎鬥 อัลบั้มมีกำหนดวางจำหน่ายในวันที่ 1 ธันวาคม ปี 2025) เรามีแผนที่จะทัวร์คอนเสิร์ตกับวง Gong Gong Gong 工工工 ที่ประเทศจีน ในเดือนพฤศจิกายนนี้ด้วยครับ

Q : หน้าปกอัลบั้ม KHUN PRA! 東福 ดูสวยแบบอาร์ตๆ แล้วก็ดูเป็นศิลปวัฒนธรรมแบบตะวันออกมากด้วย ใครเป็นคนออกแบบครับ

หมอ : ถามคุณ ชิ เลยครับ เขาเป็นคนออกแบบ

ชิ : (หยิบผ้าเช็ดหน้าขนาดใหญ่ที่เป็นลายหน้าปกอัลบั้มออกมาให้ดู) ตรงกลางหน้าปกเป็น Small Temple ครับ เพราะผมเห็นว่าทุกตึกในไทยจะมี Small Temple แบบนี้อยู่ข้างหน้าตึก หรือหน้าบ้านด้วยเหมือนกันหมด เพื่อเป็นการป้องกันเราจากสิ่งชั่วร้าย (ศาลพระภูมินั่นเอง) 

ส่วนรูปที่คล้ายๆ กับหินที่กำลังลอยอยู่รอบๆ ผมใส่รายละเอียดเข้าไปข้างในด้วย มันคือลวดลายจิตรกรรมฝาผนัง นอกจากนี้ก็ยังมีภาษาไทยว่า ‘ห้า’ กับ ‘ฮ่า’ เพราะช่วงเวลาที่ผมอยู่ไทยผมมีความสุขมาก และ 555 คือเสียงหัวเราะ 

ผมเขียนคำว่าประเทศไปลงไปด้วย (เป็นการรวมคำว่าไทยกับไทเปเข้าไว้ด้วยกัน) ส่วนตรงมุมทั้ง 4 ด้านของหน้าปกเป็น 3 เหลี่ยมลายกนก ผมอยากเขียนภาษาไทยเยอะกว่านี้นะ แต่เรียนมาได้แค่นิดหน่อยก็เลยเขียนได้แค่นี้

Q : ผลงานลำดับต่อไปของวง FORD TRIO

ฝอด : ผลงานเพลงก็จะมีออกมาเรื่อยๆ ปีหน้าก็จะมีอีกสักชุดนึง แต่ว่าต้องดูก่อนว่าจะมีกี่เพลง เป็นชุดใหญ่หรือเปล่า ส่วนเดือนสิงหาคมเราจะไปทัวร์ญี่ปุ่นกัน หลังจากนั้นจะไปจีน ก็รู้สึกตื่นเต้น เพราะถือเป็นตลาดใหม่เลยครับ 

ส่วนในไทยเรามีแผนจะไปโชว์ที่เชียงใหม่, อยุธยาจะไปปีหน้า ก็จะทยอยประกาศออกมาเรื่อยๆ ฝากติดตามด้วยครับ

Q : แล้ว Mong Tong ล่ะ จะมีผลงานอะไรออกมาบ้างต่อจากนี้

ชิ : ปีนี้เรามีทัวร์เหลืออยู่อีก 2-3 ทัวร์ ทัวร์แรกเราจะไปกันที่เกาหลีใต้ หลังจากนั้นก็จะมีทัวร์สหรัฐอเมริกา แล้วก็ทัวร์ที่จีนด้วย เราเริ่มต้นทัวร์ต่างประเทศที่ไทยเป็นประเทศแรกเลย

เราวางแผนที่จะทำงานเพลงกับทัวร์คอนเสิร์ตเอาไว้แล้ว ดังนั้นในอีก 4-5 ปีข้างหน้านี้ เราจะยุ่งกันมากๆ เลยล่ะ ส่วนการร่วมงานกับวงดนตรีต่างประเทศ เราเปิดโอกาสให้ทุกวงที่สนใจติดต่อเข้ามาได้เลยครับ เพราะเราก็ชอบที่จะมีประสบการณ์ใหม่ๆ ในการร่วมงานกับวงดนตรีที่หลากหลาย (ผู้สัมภาษณ์ – ผมว่าตอนที่บทสัมภาษณ์ Published ลงสื่อไปแล้ว น่าจะมีหลายวงสนใจติดต่อไปหาพวกคุณนะ อาจจะเป็นแร็ปเปอร์ชาวไทยก็ได้ ทุกคนหัวเราะกันอย่างพร้อมเพรียง)

Q : Mong Tong มีอะไรอยากฝากถึงแฟนเพลงชาวไทยไหมครับ

ชิ และ ฮอนยูน : ขอบคุณครับ สวัสดีครับ

ชิ : ก็อยากให้ทุกคนลองฟังอีพีใหม่ของพวกเราที่ทำกับวง FORD TRIO กันครับ พวกเราพยายามทำกันมาก เป็นประสบการณ์ใหม่เลย

Q : FORD TRIO ล่ะครับ อยากฝากอะไรถึงแฟนเพลงบ้าง

ฝอด : ขอฝากผลงานเพลง KHUN PRA! 東福 ที่เราทำกับวง Mong Tong เอาไว้ด้วยครับ ปล่อยตัวปล่อยใจแล้ว อยากให้เพลงสร้างประสบการณ์บางอย่างกับทุกคนด้วย

หมอ : ตอนนี้มี Merch (ของที่ระลึก) ขายแล้วด้วยนะครับ

ฝอด : ส่วนช่องทางในการซื้อทั้งซีดี หรือของที่ระลึก สามารถมาซื้อกันได้เลยที่ร้าน CD COSMOS จะสั่งซื้อแบบออนไลน์ก็ได้ หรือว่าจะเข้ามาซื้อที่ร้านก็ได้ ร้านอยู่ใกล้กับ BTS รัชโยธินเลย ขอบคุณทุกคนมากอีกครั้งครับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

FORD TRIO x Mong Tong บทสนทนาสุดซิ่งเมื่อวง ‘ไทยฟังก์’ ปะทะวงดนตรีทดลองจากไต้หวัน

ตามข่าวก่อนใครได้ที่

Website : https://plus.thairath.co.th

Facebook : Thairath Plus

2024-07-30T07:14:02Z