รู้จัก สติ๊กเกอร์ส่วยรถบรรทุก คืออะไร มาจากไหน ติดแล้วผ่านได้เลย

รู้จัก สติ๊กเกอร์ส่วยรถบรรทุก คืออะไร หลังวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ออกมาแฉ

วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 จากกรณีมีการเปิดโปงขบวนการสติ๊กเกอร์ส่วยรถบรรทุก จากว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ออกมาแฉถึงเรื่อง “ส่วยสติ๊กเกอร์” หรือ “สติ๊กเกอร์ Easy Pass” พร้อม ติดแฮชแท็ก #ทำงานต่อไม่รอแล้วนะ

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร โพสต์เฟซบุ๊กมีเนื้อหาว่า มีคนให้ข้อมูลว่า Easy Pass พิสดาร นี่มีหลายรูปแบบมาก มีคนร่ำลือกันว่า ต่อให้บรรทุกเป็น 100 ตัน ก็ขับผ่านฉลุย แถมไม่ต้องเสียเวลาชั่ง

กลไกคือ มีองค์กรลึกลับไปไล่เคลียร์ แล้วเหมาจ่ายไปก่อน จากนั้นก็จะผลิตสติ๊กเกอร์ Easy Pass พิสดาร (ที่ไม่เกี่ยวกับการทางพิเศษฯ) ออกมา แล้วนำมาจำหน่ายให้กับรถบรรทุกต่าง ๆ ในราคาหลักพันบาทต่อเดือน ตามระยะทาง และจำนวนด่าน อย่างเช่น สติ๊กเกอร์ Easy Pass รุ่นกระต่ายน้อยคอยรัก ดวงละ ประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน

“สติ๊กเกอร์ Easy Pass พิสดารแบบนี้ ไม่มีกลไกอิเล็กทรอนิกส์อะไร ใช้แค่ตาสังเกต เห็นปุ๊บ เป็นอันว่ารู้กัน ไม่ต้องเลิ่กลั่ก แต่รับรองผ่านฉลุย ลุยไม่ยั้ง ไม่ต้องชั่งให้เสียเวลา”

สติ๊กเกอร์ส่วยรถบรรทุกคืออะไร มาจากไหน

นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “เรื่องนี้ถือเป็นความผิดร้ายแรง และมีการกระทำผิดเช่นนี้มาตั้งแต่ปี 2539 แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาเรารับรู้ถึงเรื่องการซื้อขายสติ๊กเกอร์ และสู้เรื่องนี้มาโดยตลอด ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่จะสามารถช่วยพรรคก้าวไกลได้ คือเราต้องให้ความร่วมมือโดยการให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง อาทิ ที่มาของสติ๊กเกอร์กว่า 50-60 แบบ คลิปเสียง

และคลิปวิดีโอที่มีการแอบถ่ายเอาไว้ว่าเรื่องนี้มีจริง แต่เราไม่สามารถโพสต์ลงในสื่อโซเชียลได้ เพราะเกรงว่าจะผิด พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จึงจะนำข้อมูลไปให้พรรคก้าวไกล เพื่อหาผู้กระทำผิดมารับโทษต่อไป” นายอภิชาติกล่าว

นายอภิชาติกล่าวว่า ปัจจุบันพบว่ามีรถบรรทุกที่จ่ายค่าสติ๊กเกอร์อยู่ประมาณ 150,000-200,000 คัน จากจำนวนรถบรรทุกที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ประมาณ 1,500,000 คัน ซึ่งในจำนวนที่จ่ายสติ๊กเกอร์ส่วยรถบรรทุกเฉลี่ยต่อเดือนมีมูลค่านับพันล้านบาท ดังนั้น จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง

โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มข้น ตรวจสอบควบคุมผู้ว่าจ้าง และผู้รับจ้างไม่ให้บรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนด เพราะปัจจุบันนี้เหมือนกฎหมายเอาผิดได้แต่ผู้รับจ้าง เมื่อเจอกระทำผิดดำเนินการตามกฎหมาย อาทิ จับ ปรับเงิน ยึดรถ และจำคุก

ส่วนผู้ว่าจ้างและผู้ที่มีอิทธิพลเกี่ยวกับส่วยสติ๊กเกอร์รถบรรทุก เมื่อมีเบาะแสอยากให้ตรวจสอบ หากกระทำผิดอยากให้ดำเนินการลงโทษตามกฎหมายด้วย เพราะปัญหาการกระทำผิดเกี่ยวกับการบรรทุกน้ำหนักเกิน ส่งผลให้โครงข่ายถนนและสะพานเกิดชำรุด พังเสียหายก่อนถึงอายุการใช้งาน ซึ่งถนนมีอายุการใช้งาน 20 ปี แต่เมื่อมีการบรรทุกน้ำหนักเกินใช้งาน 2-3 ปี พังแล้ว

รวมทั้งเกิดความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุบนท้องถนน ภาครัฐต้องจ่ายค่าซ่อมบำรุงถนนทั่วประเทศปีละหมื่นล้านบาท และเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยกับผู้ใช้รถใช้ถนน

วิโรจน์ชี้แจง ผู้การ ตำรวจทางหลวง ขอย้ายตัวเอง

ล่าสุด วิโรจน์ ลักขณาอดิศร โพสต์เฟซบุ๊ก มีเนื้อหาว่า ผมขออนุญาตชี้แจงข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการย้ายท่านผู้การ ตร.ทางหลวง ที่ปรากฏตามหน้าสื่อจำนวนไม่น้อยว่า ท่านถูกเด้งบ้าง ถูกสั่งย้ายบ้าง ซึ่งข้อเท็จจริง คือ ท่านผู้การ ตร.ทางหลวง พล.ต.ต.เอกราช ลิ้มสังกาศ ท่านไม่ได้ถูกสั่งย้าย หรือถูกเด้งแต่อย่างใดนะครับ แต่ท่าน #แสดงสปิริตขอย้ายตนเอง เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง

ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของการแสดงความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ที่ปรากฏได้น้อยมาก ๆ ในแวดวงราชการไทย ซึ่งผมต้องขอแสดงความชื่นชมในสปิริต และมาตรฐานทางจริยธรรมของท่านผู้การ ตร.ทางหลวง ไว้ ณ ที่นี้ครับ

2023-05-31T09:15:52Z dg43tfdfdgfd